top of page

การเจริญพรหมวิหารธรรม



ผู้เขียน :

รองศาสตราจารย์ ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว

นายกสมาคมจิตวิทยาการปรึกษา


วันที่เผยแพร่ :

28 เมษายน 2564

 

การเจริญพรหมวิหารธรรมเป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างยิ่งเพื่อแผ่จิตใจที่ดีงามออกไปปลอบประโลมใจสังคม ไม่ว่าสังคมเล็กๆ ใกล้ตัว หรือสังคมใหญ่ๆ ไกลตัว ในยามที่ทุกข์เข็ญจากโรคภัยที่ร้ายแรงกำลังคุกคามและความเป็นอยู่ที่ยากลำบากกำลังส่งผลกระทบทุกผู้คน


พึงเจริญเมตตาธรรม คือใจที่เป็นมิตร เพราะเราทุกคนได้ร่วมใช้ชีวิตที่มีชะตากรรมเดียวกัน มันเป็นภาวะที่ต้องร่วมประสบในการมีชีวิต เมตตาธรรมคือการให้รอยยิ้มที่อบอุ่นแก่ดอกไม้ ต้นไม้ แก่แม่น้ำ แก่แผ่นดิน เพราะทั้งหมดนั้นประกอบอยู่ในชีวิตของเรา เมตตาธรรมคือความยินดีและขอบคุณความเป็นเพื่อนที่สรรพสิ่งล้วนมีแก่เรา เมตตาธรรมคือการกล่าวถ้อยคำที่เป็นมิตร ความคิดที่แสดงความเข้าใจและการกระทำที่ส่งเสริมความเป็นเพื่อนร่วมด้วยการแบ่งปันเอื้อเฟื้อเจือจาน เมตตาธรรมจะช่วยอุ้มชูจิตใจที่อ่อนล้าให้กลับมาแกล้วกล้ามีกำลัง เช่นเดียวกับหยาดฝนที่ชะโลมต้นไม้ในหน้าแล้งให้มีพลังฟื้นฟูให้แก่การมีชีวิต เมตตาธรรมเป็นใจที่ลดความสำคัญของตนเองและแผ่ขยายใจนั้นไปประโลมใจผู้อื่นเช่นเดียวกับต้นไม้ใหญ่ที่แผ่ร่มเงาและความร่มเย็นไปสู่สรรพสิ่งรอบๆ ตัว


พึงเจริญกรุณาธรรม คือใจที่สงสาร และปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ความอัตคัดความยากลำบาก กรุณาคือใจที่เห็นต้นไม้ในกระถางแห้งมีใบเหลืองจึงได้ใช้บัวตักน้ำเพื่อลดให้ต้นไม้ได้รับความชุ่มฉ่ำและฟื้นฟูพลังชีวิตได้อีก กรุณาคือใจที่เห็นสุนัขหิวโซอยู่ข้างถนนแล้วจึงเดินไปซื้ออาหารมาเจือจานสุนัขนั้น กรุณาคือใจที่ค่อยค่อยช้อนมดตัวน้อยที่ตกน้ำขึ้นมาไว้ในที่แห้ง กรุณาคือใจที่ย้ายก้อนหินเพื่อให้ต้นไม้ต้นเล็กๆ ได้มีเนื้อที่สำหรับความงอกงามเติบโต กรุณาคือใจที่เห็นความยากไร้ของเพื่อนมนุษย์แล้วคิดและลงมือทำสิ่งที่ปลดเปลื้องความยากไร้เหล่านั้น จนผู้คนสามารถพึ่งพาตนเองลืมตาอ้าปากได้และมีชีวิตอยู่อย่างภาคภูมิ กรุณาคือใจที่อยากให้การศึกษาเพื่อผู้คนจะได้มีวิชาไปเลี้ยงชีวิต กรุณาคือใจที่เห็นผู้คนป่วยไข้แล้วลงมือสร้างสถานพยาบาลสร้างแพทย์สร้างพยาบาลเพื่อเกื้อกูลรักษาผู้ป่วยไข้เหล่านั้น กรุณาคือใจที่ยกจานอาหารขณะที่กำลังจะลงมือรับประทานเพื่อมอบให้แก่บุคคลที่หิวโหยอยู่เบื้องหน้า กรุณาคือใจที่สร้างตู้ปันสุขและหม้อน้ำไว้หน้าบ้านเพื่อให้ผู้คนที่เดินเหน็ดเหนื่อยผ่านทางจะได้บริโภค กรุณาคือการบริจาคเงินทองทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือยามเกิดภัยต่างๆ แก่เพื่อนมนุษย์ กรุณาเป็นใจที่จะช่วยให้ช่องว่างของผู้คนได้ลดน้อยลงเพราะการแบ่งปันยอมลดความเหลื่อมล้ำจากความแตกต่างมาผูกพันกันด้วยจิตใจ กรุณาคือใจที่สละตนเองไปเพิ่มเติมให้แก่ผู้อื่น กรุณาคือใจที่มองสรรพสิ่งด้วยความเอ็นดูและงดการทำร้ายสิ่งต่างๆ ไม่ว่าในระดับความคิดความรู้สึกหรือถ้อยคำตลอดจนการกระทำ กรุณาคือใจที่เกื้อกูลให้สรรพสิ่งได้พ้นจากความทุกข์ยากลำบากเพื่อจะได้มีชีวิตที่แข็งแรงและทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นอย่างเต็มกำลัง


พึงเจริญมุทิตาธรรม คือการมีจิตใจที่เห็นคุณงามความดีของผู้อื่นและในสรรพสิ่ง มุทิตาคือจิตใจที่เห็นและชื่นชมในความอดทน ความวิริยะพากเพียร ความเกื้อกูล ความเอื้อเฟื้อ ความมีน้ำใจ การแบ่งปันตลอดจนแรงใจที่ผลักดันให้ใช้ชีวิตที่ไม่ย่อท้อต่อความทุกข์ยาก และเห็นความงามของความพยายามจะยกระดับตนเองของผู้คน มุทิตาเป็นใจที่เผื่อแผ่ออกไป ไม่เป็นใจที่หุบให้ทุกสิ่งเข้ามาเป็นของตนหรือเป็นไปตามใจตน มันจึงไม่มีความไม่พอใจ ไม่มีความอิจฉาริษยา มันจึงไม่มีใจที่จะกล่าวร้าย ว่าร้าย แต่เป็นใจที่ยกย่องความดีความงามของผู้อื่นและของสรรพสิ่ง มุทิตาจึงเป็นจิตใจที่ปลอบประโลมใจ ฟื้นฟูกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง มุทิตาเป็นใจที่นำให้เกิดการกระทำที่เป็นไปเพื่อยกย่องเชิดชูเพื่อดำรงสิ่งดีสิ่งงามให้เป็นกระแสที่นำสังคมให้เกิดความชื่นใจ


พึงเจริญอุเบกขาธรรม นั่นคือใจที่มั่นคงไม่หวั่นไหว อิ่มเอิบด้วยขันติธรรม เพราะอุเบกขาเป็นใจที่ได้รับการค้ำจุนด้วยความเข้าใจในความเป็นจริงของธรรมชาติ ของชีวิต ซึ่งดำเนินผันแปรไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกินการควบคุมของมนุษย์ และเป็นความสามารถที่จะจัดการให้การดำรงอยู่เป็นไปอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิต อุเบกขาเป็นใจที่สามารถยืดหยุ่นเพื่อการอยู่กับความจริงได้อย่างกลมกลืน ในยามสะดวกสบายมันก็จัดการให้จัดการอย่างที่เหมาะสม ในยามยากลำบากมันก็จะช่วยจัดการให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ในยามพลัดพรากสูญเสียมันก็จัดใจให้มั่นคงกับความจริงนั้น มันเป็นใจที่นอบน้อมยอมรับความจริงอย่างเข้าใจ อุเบกขาเป็นใจที่อิ่มเอิบด้วยสติปัญญาอันเป็นภาวะที่เป็นคุณอย่างที่สุดในการเข้าใจความจริงของชีวิตที่มีการเกิด การดำรงอยู่และการสิ้นสุด ทำให้ความมั่นคงไม่หวั่นไหวกับความผันแปรต่างๆ เป็นไปได้ อุเบกขาเป็นจิตใจที่เข้มแข็งมุ่งมั่น ไม่วอกแวกและไม่อ่อนแอด้วยความเห็นแก่ตัว หรือด้วยการเอาตัวเองเป็นใหญ่ มันจึงไม่มีความกลัว ความโกรธ ความไม่พอใจ ความเกลียดชัง ความเอาแต่ได้ ความตระหนี่ ดังนั้นอุเบกขาจึงเป็นใจที่แจ่มใสปราศจากความขุ่นมัวจากความทุกข์โศกโรคภัยใดใด แต่ดำรงตนเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงให้ร่มเงาให้ดอกผลอย่างเต็มที่ ไม่สะเทือนเพราะความชอบหรือความชังใดใดเลย


ในยามแผ่นดินทุกข์ร้อนด้วยโรคร้ายที่แผ่อิทธิฤทธิ์ผ่านบริวารต่างๆ ของมัน ย่อมเป็นโอกาสที่เราจะว่ายน้ำให้พ้นจากเภทภัยต่างๆ ด้วยการยกจิตใจให้สูงขึ้นด้วยพรหมวิหารธรรมเพื่อจะได้ไม่ถูกความร้ายเหล่านั้นมาทำร้ายหรือทำลายเราได้ เราพึงระวังจิตใจของตนอย่าให้มันตกลงไปในที่ต่ำและเกลือกกลั้วกับความทุกข์ ความร้อนรนของนรกอบายภูมิเลย


 

ดู 607 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page