top of page

ใบยอ ห่อหมก คุณยายกับลูกหลาน

ผู้เขียน :

ดร.เพริศพรรณ แดนศิลป์

อาจารย์ประจำหลักสูตรจิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล


วันที่เผยแพร่ :

2 มกราคม 2564

 

น้องคนหนึ่งถามฉันว่า “พี่คะใบยอนี่ ต้นมันหน้าตาเป็นยังไงคะพี่” คำถามนี้ไม่ได้ยากเกินที่ฉันจะตอบ แต่คำถามนี้พาให้ฉันได้นึกถึงช่วงชีวิตในวัยเด็กที่ผ่านมาที่ฉันอยู่ต่างจังหวัด ภาพต้นไม้ในวัยเด็กและความเป็นอยู่ที่ต้นไม้เป็นเสมือนสมาชิกในครอบครัวของเราได้ผุดขึ้นมาในความทรงจำ

คำถามจากรุ่นน้องสะกิดใจให้ฉันสังเกตว่า เด็กๆ ในสมัยนี้ไม่ค่อยคุ้นเคยกับต้นไม้หรือพืชพรรณมากนัก สำหรับชีวิตเช่นนี้ ทำให้ไม่ว่าจะหยิบจับมาใช้ประโยชน์หรือมาบริโภคแทบเป็นไปไม่ได้ ชีวิตผู้คนในเมืองแตกต่างไปจากชีวิตต่างจังหวัดในสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง


ใบยอ” ทำให้ภาพในความทรงจำของฉันผุดเรียงรายไล่เรียงตามมาเป็นลำดับ สภาพชีวิตรอบๆ ตัวของฉันในวัยเด็กของเมื่อก่อนที่ทุกบ้านจะมีต้นไม้ นอกจากไว้อาศัยร่มเงาแล้วยังนำมาปรุงอาหาร และเป็นยาสมุนไพรอีก ต้นยอหลังบ้าน นอกจากจะถูกนำมาทำห่อหมกและแกงแล้ว ที่ก๋งของฉันจะเอาลูกยอใส่ลงไปในส้มตำด้วย ท่านบอกว่ามันเป็นยาและช่วยให้รสชาติส้มตำอร่อยขึ้น แต่สมัยนี้อย่าว่าแต่จะใส่ในส้มตำเลย แม้แต่ต้นของมัน เด็กๆ ยังจะไม่เคยเห็นด้วยซ้ำไป


ลูกอ่อนจากต้นขนุนข้างบ้าน ต้มและทานคู่กับน้ำปลายำ ฉันไม่แน่ใจว่า น้ำปลายำนี้กำเนิดขึ้นในที่ใด เพราะฉันไม่เคยพบหรือหาทานได้ในที่อื่นนอกจากแถวบ้าน ส่วนผสมของน้ำปลายำก็คือ น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ พริกสดเผา หอมเผา ตะไคร้และใบมะกรูดซอย และเพียงทานกับข้าวสวยร้อนๆ ก็สามารถทานขนุนกับน้ำปลายำโดยไม่ต้องรอกับข้าวอื่นให้เสียเวลาเลย อาหารที่อร่อยอย่างง่ายๆ เช่นนี้หาทานยากขึ้นทุกทีและสมัยนี้อาหารในจานเราแต่ละมื้อแทบจะไม่มีสมุนไพรพื้นบ้านผสมผสานเข้ามาในจานเลย


ต้นมะยมนั้นเมื่อนำใบมาทานคู่กับข้าวมัน-ส้มตำมันจะทั้งอร่อยและมีประโยชน์อย่างยิ่ง หรือถ้าใครนอนไม่หลับ วันนั้นก็เตรียมเก็บดอกขี้เหล็กข้างบ้านมาแกงได้เลย สรรพคุณที่ยอดเยี่ยมก็คือการช่วยให้หลับสบาย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุอย่างมาก ฉันได้ความรู้เรื่องสรรพคุณจากสมุนไพรอย่างเก็บเล็กผสมน้อยก็มาจากการฟังคุณยายและผู้เฒ่าผู้แก่แถวบ้านพรรณนาถึงสรรพคุณ และความรู้ที่ได้มาก็เพียงพอที่จะช่วยเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อตนเองได้พอสมควร





แม้บ้านฉันจะมีต้นไม้เพียงบางชนิด แต่แน่นอนว่าเราไม่อดเลย เพราะต้นไม้ที่อยู่รายล้อมบ้านเราไม่ได้ถูกแบ่งเขตหรือถูกกั้นด้วยรั้ว เมื่อใจของผู้คนไม่มีรั้วแล้ว เราก็นึกถึงการแจกจ่าย แบ่งปันข้าวของที่มีเกินจำเป็น ใครที่รู้ว่าบ้านนี้ไม่ได้ปลูกต้นไม้เหมือนที่ปลูกที่บ้านก็จะเด็ดมาฝากกัน เช่น ต้นแค มะรุม สะเดา ใบย่านาง ใบมะกรูดฯลฯ เมื่อต้นไม้ทั้งหมดเป็นเหมือนต้นไม้ที่ทุกๆ บ้านเป็นเจ้าของทางใจร่วมกัน สัมพันธภาพ ความคุ้นเคย ความถ้อยทีถ้อยอาศัย มิตรภาพ ก็เกิดขึ้นอย่างธรรมชาติ ตามมาด้วยการแลกเปลี่ยนอาหารและเอื้อเฟื้อกับข้าวที่ได้ทำต่อกันและกัน


บรรยากาศการทำอาหารภายในครัวเรือนของทุกบ้านเป็นเรื่องปกติในวิถีชีวิตในสมัยที่ฉันเป็นเด็ก และฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องไม่ธรรมดาเลย ฉันนึกย้อนไปว่าสมัยนั้นก๋งเรา ย่ายายของเรา ไม่ได้มีความรู้เรื่องจิตวิทยาครอบครัว มนุษย์สัมพันธ์ การพัฒนาการเด็ก ธรรมชาติบำบัด และศาสตร์อีกร้อยพัน แต่ท่านก็สามารถมีความเป็นอยู่อย่างสอดแทรกความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือ การร่วมแรงร่วมใจกันในครอบครัวได้ลึกซึ้ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะผ่านงานหรือกิจกรรมในบ้านนี่แหละ


สมัยนี้การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวสำหรับคนเมืองมักจะเป็นเรื่องที่เอิกเกริกด้วยการออกไปทำเวิร์คชอป หรือไปอบรมเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัว


ทั้งๆที่กิจกรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นทำอาหารร่วมกัน เก็บผักล้างผัก ล้างจาน ปลูกต้นไม้ ฯลฯ สามารถเป็นส่วนหนึ่งและกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนได้ แต่สมัยนี้มันกลายเป็นเรื่องที่แยกออกจากวิถีชีวิตจนแต่ละครอบครัวต้องวิ่งออกไปหากิจกรรมเสริมกันนอกบ้านเสียแล้ว


การทำอาหารสักหนึ่งมื้อสำหรับฉัน เป็นการเชื่อมสมาชิกทุกคนในบ้านให้ได้มีโอกาสอยู่ร่วมกัน ฉันยังจดจำภาพวันเหล่านั้นได้ดี บ้านฉันอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ และด้วยสมาชิกที่เยอะการทำอาหารก็ช่วยประหยัดได้มากและทานกันได้ทั้งครอบครัว แต่ที่คุ้มค่ากว่านั้นคือคุณค่าทางจิตใจที่ยังติดตัว และตราตรึงอยู่ในใจเราทุกคนมาจนทุกวันนี้


ฉันนึกถึงภาพของยายที่เตรียมเครื่องแกงสำหรับทำห่อหมก ยายจะเป็นผู้ที่มีฝีมือทั้งการทำอาหารและขนมไทยจนมรดกนี้ตกทอดมาถึงแม่ของฉัน ยายจะพิถีพิถันและใส่ใจกับขั้นตอนการทำอย่างพิเศษ ซึ่งส่งผลให้ห่อหมกของบ้านเรามีรสพิเศษด้วยการตำเครื่องแกงเองแทนการซื้อจากตลาด


ยายเล่าว่า การที่เราตำพริกแกงเองจะช่วยให้มันมีความสดใหม่ รสชาติอาหารจะหอมกว่า เข้มข้นกว่าหรือเรียกว่าถึงเครื่องนั่นเอง ทุกวันนี้รายละเอียดและความประณีต และใส่ใจเช่นนี้เรื่องเหล่านี้หายไปจากชีวิต และเชื่อได้ว่ายากที่จะเกิดขึ้นอีกคนเราในปัจจุบันมองว่าการซื้อหา การซื้อทานสะดวกกว่า ฉันก็ยอมรับความจริงข้อนี้ เพียงแต่นึกถึงว่า


เมื่อรายละเอียดในชีวิตหายไป เราก็มีโอกาสละเมียด ละไมและละเอียดกับชีวิตลดลง

และที่สำคัญมากในการทำอาหารแต่ละครั้ง ลูกๆ หลานๆ จะได้รู้จักขั้นตอนของการทำอาหาร เคล็ดลับและความประณีตจากยายอย่างใกล้ชิด สมาชิกที่รายล้อมก็ได้รับการจัดวางตำแหน่งหน้าที่ตามความเหมาะสม และทุกคนจะกุลีกุจอโดยไม่มีใครบังคับ เหมือนรู้กันอยู่ในทีว่าใครถนัดอะไรก็รับกันไป โดยมีแม่ครัวใหญ่คือยายและน้าสาวก็มีหน้าที่ออกไปเก็บใบยอและนำมาล้างและฉีกรองไว้ในกระทง น้าชายจะรับตำแหน่งการออกแรงตำเครื่องแกงในครก ส่วนแม่ของฉันทุบมะพร้าว ขูดมะพร้าว และคั้นกะทิ และส่วนประกอบที่สำคัญอีกอย่างคือการขูดเนื้อปลาใส่เพื่อให้รสเข้มข้น ยายเริ่มผสมเครื่องแกง เนื้อปลาขูด กะทิ ซึ่งต้องใช้ไม้พายคนกันให้เนื้อของส่วนผสมเข้ากัน และเมื่อคนเข้ากันแล้วค่อยใส่เนื้อปลาเป็นชิ้นอีกที


จากนั้นก็นำเนื้อห่อหมกมาหยอดในกระทงที่เย็บเตรียมไว้ ฉันตื่นตาตื่นใจกับการหยอดกะทิด้านบนของห่อหมกมากเพราะดูจะเป็นขั้นตอนที่สนุกที่เด็กอย่างฉันจะพอช่วยได้ และฉันก็ทึ่งกับวิธีการที่ต้องเคี่ยวเฉพาะหัวกระทิเข้มข้นเพื่อนำมาหยอดซึ่งช่วยให้ทั้งสวยงามและเพิ่มรสชาติอีกด้วย


ฉันไม่ได้ต้องการเล่าสูตรการทำห่อหมกรสเลิศหรอกนะ แต่ฉันค้นพบสูตรของการถักทอ ผูกใจของคนในบ้านให้ผูกพันรักใคร่กัน และภาพนั้นยังเด่นชัดอยู่ในความรู้สึกของฉันมาจนถึงวันนี้ และฉันก็มีความทรงจำในใจว่าการที่เราได้อยู่ในบรรยากาศในครัว ได้เห็นความลำบากยากเย็นของการทำอาหารก่อนจะได้ทานในแต่ละมื้อนั้น เป็นความลำบากก็จริง แต่ฉันก็ได้ซึมซับกับความรักในหมู่ญาติพี่น้องได้เห็นการช่วยเหลือในครอบครัว ได้เห็นความอดทนของบรรพบุรุษของเรา ได้กตัญญูต่อผู้มีพระคุณมาจนถึงทุกวันนี้


แม้ว่าฉันจะจำ สิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ครบสมบูรณ์ และที่มีส่วนก็เพียงแค่การช่วยเรียงกระทงหรืองานเล็กๆ น้อย แต่ฉันก็ได้รับหน้าที่บันทึกความทรงจำในวันโน้นมามอบให้แก่ทุกท่านซึ่งอาจเคยมีช่วงเวลาแบบนี้ หรือทุกวันนี้ก็ยังมีโอกาสได้ทำอาหารร่วมกันในครอบครัวอยู่ จะได้ซาบซึ้งใจและอิ่มใจไปด้วยกัน เพราะช่วงเวลาแบบนี้อาจไม่ย้อนกลับมาอีกง่ายๆ แต่สำหรับมันไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำเลย


และหากเราได้เริ่มต้นในบ้านของเราแล้ว สิ่งที่เราได้จะไม่ใช่เพียงแต่อาหารกายเท่านั้น แต่มันเป็นอาหารใจที่หล่อเลี้ยงทุกๆคนในบ้านให้เกิดความเป็นเนื้อเดียวกัน และได้นึกถึงกันเมื่อวันเวลาผ่านไป และสิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นสายใยที่ผูกใจทุกคนในบ้านไว้ด้วยกัน

ทุกวันนี้แม้เวลาที่จะได้ทำอาหารร่วมกันลดน้อยลงมาก แต่น้าของฉันแม้จะแยกออกไปมีครอบครัว และอยู่ห่างไกลกันคนละจังหวัด ก็จะเก็บใบยอ มะรุม ชะอม สะเดาฯลฯ ในสวนของตน แล้วแวะเวียนมาชวนให้แม่ฉันทำอาหารมื้อพิเศษทานกัน ฉันรู้สึกว่า ใบยอ มะรุม ชะอม สะเดาฯลฯ ที่น้าเก็บมาเป็นตัวแทนของความคิดถึงพี่ คิดถึงก๋งและยาย คิดถึงวันเวลาที่ผ่านไป ฉันสัมผัสได้ถึงความใกล้ชิดผูกพันนั้น และย้ำเตือนฉันและทุกๆ คนในครอบครัวว่าอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตพวกเรา ไม่ใช่อาหารที่ทานให้อิ่มท้องเท่านั้น แต่มันมาจากความรักของก๋งกับยาย ความอดทนเสียสละของพี่ป้าน้าอา และความเอาใจใส่ของลูกหลานที่ช่วยให้อาหารแต่ละมื้อมีคุณค่ามากกว่าการอิ่มท้องเพียงอย่างเดียว


ฉันเชื่อว่าหากใครได้ลิ้มลองห่อหมกใบยอของบ้านฉันก็รับรองต้องติดใจในรสชาติเป็นแน่ แต่อีกรสชาติหนึ่งที่ฉันอยากชวนทุกท่านมาลิ้มลองก็คือ

”รสชาติของความรักความผูกพัน”

ที่เราสามารถสัมผัสได้เมื่อเราได้มีโอกาสทำอาหารร่วมกัน เราจะได้ไม่ลืมลิ้มรสอาหารที่มาจากหัวใจที่ลึกซึ้งของความรักที่เชื่อมผ่านการทำอาหารร่วมกันนั้น

สุขสันต์วันปีใหม่ทุกท่านค่ะ

 

* ข้อความในบทความนี้ เป็นทัศนะของผู้เขียนมิใช่ของผู้จัดทำหรือสมาคมฯ หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัย โปรดติดต่อเจ้าของบทความโดยตรง

ดู 203 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page