top of page

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเพื่อพื้นฟูพลังอำนาจ ที่มีความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ

ผู้เขียน

รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ

ศูนย์ประสานงานองค์การอนามัยโลกด้านการวิจัยและฝึกอบรมเพศภาวะและสุขภาพสตรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

email : somrun@kku.ac.th


วันที่เผยแพร่

1 ธันวาคม 2563

 

องค์การอนามัยโลกระบุว่าเพศภาวะ (gender) มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดปัญหาสุขภาพจิต ทั้งนี้สมาคมนักจิตวิทยาการปรึกษาในสหรัฐอเมริกาได้มีการบูรณาการมิติความไม่เป็นธรรมทางสังคมซึ่งรวมถึงเพศภาวะไว้ในแนวปฏิบัติของนักจิตวิทยาการปรึกษา การนำเสนอประสบการณ์การทำงานจิตวิทยาการปรึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ นำเสนอพัฒนาการกระบวนทัศน์ที่เป็นกรอบในการให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยา และการให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเพื่อฟื้นฟูพลังอำนาจที่มีความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ



กระบวนทัศน์ในการอธิบายปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมในสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา


กระบวนทัศน์ในการอธิบายปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมในสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษาได้มีการพัฒนามาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันอยู่ในกระบวนทัศน์คลื่นลูกที่ห้า คลื่นลูกที่หนึ่ง (first force) คือทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic theory) นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีความเชื่อว่าปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากประสบการณ์ปมขัดแย้งทางจิตใจในระดับจิตใต้สำนึก เป้าหมายการให้การปรึกษาคือช่วยให้ผู้รับบริการเกิดการรู้แจ้ง (insight) นำปมความขัดแย้งทางจิตใจขึ้นมาอยู่ในระดับจิตสำนึก คลื่นลูกที่สอง (second force) ทฤษฎีการรู้คิดและพฤติกรรม (Cognitive-behavior theory) นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีความเชื่อว่าปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากกระบวนการคิดบิดเบือน หรือไม่เป็นเหตุผล พฤติกรรมได้รับการถูกวางเงื่อนไขจากสิ่งเร้าภายนอกหรือการเรียนรู้ เป้าหมายในการให้การปรึกษาคือการเปลี่ยนแปลงความคิดหรือพฤติกรรม คลื่นลูกที่สาม ทฤษฎีกลุ่มอัตถิมนุษยนิยม (Humanistic-Existential) นักจิตวิทยากลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความรับผิดชอบ มีศักยภาพในการเติบโตงอกงามด้วยตัวของตัวเอง มีเสรีภาพในการเลือกการดำเนินชีวิต นักจิตวิทยากลุ่มนี้ให้ความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมระหว่างผู้ให้การปรึกษากลับผู้รับการปรึกษา เป้าหมายของการให้การปรึกษาคือการช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเกิดการตระหนักรู้ความขัดแย้งภายในจิตใจของตนเอง และสามารถก้าวผ่านความขัดแย้งสู่การเจริญเติบโตงอกงามทางจิตใจ คลื่นลูกที่สี่ (fourth force) คือทฤษฎีพหุวัฒนธรรม (Multicultural theory) นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีมุมมองที่ขยายไปจากการอธิบายว่าปัญหาสุขภาพจิตเกิดจากภายในบุคคล ให้ความสำคัญต่อความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรมที่มีผลต่อ ความคิด พฤติกรรม และการแสดงออกของอารมณ์ ผู้ให้การปรึกษาต้องมีความละเอียดอ่อนเชิงวัฒนธรรม และปัจจุบันพัฒนาการกระบวนทัศน์ในการอธิบายปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมได้เคลื่อนมาสู่ลูกที่ห้า คือ การปรึกษาเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม (Social justice) นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีความเชื่อว่าปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากการกดขี่เชิงโครงสร้างทางสังคม การกดขี่ที่ได้รับอาจเนื่องจาก เพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา รสนิยมทางเพศ ความสมบูรณ์ของร่างกาย ความยากจน ระดับการศึกษา ประวัติส่วนบุคคล เป็นต้น (Ratts and Pederson, 2014) เป้าหมายของการให้การปรึกษาคือการช่วยให้ผู้รับการปรึกษาตระหนักรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขาเกิดจากมาจากการที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคมที่เขาอยู่ นักจิตวิทยาการปรึกษากลุ่มนี้จะทำงานการเคลื่อนไหวทางสังคมควบคู่ไปกับการให้การปรึกษาในระดับบุคคล เพราะการที่จะแก้ปัญหาในระดับบุคคลได้ต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหาคือการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นธรรม (Ratts and Pederson, 2014)


เพศภาวะกับปัญหาสุขภาพจิตในผู้หญิง ผู้ชาย และ กลุ่มหลากหลายทางเพศ


พบว่ายังมีหลายคนไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง เพศ (sex) และเพศภาวะ (gender) และบ่อยครั้ง เพศภาวะถูกนำมาใช้ทำความเข้าใจเฉพาะกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เพศ (sex) หมายถึง การแบ่งบุคคลออกเป็นเพศต่าง ๆ โดยยึดเอาลักษณะทางสรีระของอวัยวะเพศตามที่บุคคลถือกำเนิดมาเป็นหลัก เรียกอีกอย่างว่า “เพศกำเนิด”

เพศภาวะ (gender) หมายถึง สภาวะหรือลักษณะที่สะท้อนความเป็นเพศหญิง เพศชาย หรือเพศอื่น ๆ ที่ได้รับการหล่อหลอมจากสังคม (socialization) เป็นตัวกำหนดบรรทัดฐาน บทบาทหน้าที่ ความสัมพันธ์ พฤติกรรม การทำกิจกรรม เพศวิถี (sexuality) พื้นที่ อำนาจ ความคาดหวัง การให้คุณค่าของเพศหญิง เพศชาย และ เพศอื่นๆ ที่แตกต่างกัน เรียกอย่างอื่นว่า “เพศกำหนด” เช่น ผู้หญิงอ่อนโยน อ่อนแอ ต้องการการปกป้องดูแลผู้ชายเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว มีความเป็นผู้นำ คนข้ามเพศมีอารมณ์รุนแรง เป็นต้นความแตกต่างนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ ระบบโครงสร้างของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง (สมพร รุ่งเรืองกลกิจ, 2558)

สาเหตุที่ผู้หญิงมีภาวะซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย โดยใช้ฐานการวิเคราะห์ด้านเพศภาวะ (gender analysis) พบว่ามีสาเหตุมาจากความเครียดเรื้อรังจาก โครงสร้างทางสังคมซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิด ค่านิยม และวิถีปฏิบัติแบบชายเป็นใหญ่ (patriarchy society) หรือวิถีที่ให้คุณค่า โอกาส สิทธิ และเสรีภาพทางสังคมกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง ความกดดันทางสังคมจากบทบาทด้านความไม่เป็นธรรมทางเพศภาวะที่ผู้หญิงถูกคาดหวังจากการเป็นผู้หญิง อาทิต้องอดทนเพื่อดำรงความเป็นครอบครัว การแบกรับภาระหลายอย่าง ทั้งงานในบ้าน และงานที่มีค่าตอบแทนซึ่งอาจเป็นนอกบ้านหรือในบ้าน การถูกใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆในวัยเด็ก และจากชีวิตคู่ หรือการที่สามีไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่และผลักภาระให้เธอรับผิดชอบครอบครัวตามลำพัง ปัจจัยบนฐานเพศภาวะแบบชายเป็นใหญ่เช่นนี้ ส่งผลให้ผู้หญิงตกอยู่ในภาวะบีบคั้น ต้องอดทนจนก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรัง ลดทอนการเห็นคุณค่าในตัวเอง นำมาสู่การเกิดอาการซึมเศร้า (Chandra & Satyanarayana, 2010 Marchandet al., 2016; Yu, 2018, สมพร รุ่งเรืองกลกิจและคณะ, 2555) ซึ่งแท้จริงแล้วผู้หญิงมีศักยภาพแต่เนื่องจากอยู่ภายใต้สังคมแบบชายเป็นใหญ่ที่มีความไม่เท่าเทียมทางเพศภาวะทำให้ผู้หญิงรู้สึกกดดัน ไร้พลังอำนาจ การฟื้นฟูศักยภาพของผู้หญิงคือการช่วยให้ผู้หญิงตระหนักถึงรากเหง้าของสาเหตุของปัญหาว่ามาจากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียม ไม่ใช่เกิดจากตัวผู้หญิงเอง (Kumar, 2013)


เช่นเดียวกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ในสังคมแบบรักต่างเพศ (heterosextual) ได้กำหนดรสนิยมทางเพศอย่างจำกัดคือต้องเป็นคนรักต่างเพศและกีดกัน ไม่ให้โอกาสหรือทำความรุนแรงกับคนที่มีรสนิยมทางเพศที่หลากหลาย รวมถึงคนข้ามเพศ นำมาสู่การเกิดปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรม


อย่างไรก็ตามในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ แม้ว่าผู้ชายจะได้รับโอกาส อภิสิทธิ์ มีอำนาจมากกว่าผู้หญิง การยึดติดกับกรอบเพศภาวะดั้งเดิม (tradition gender) ในสังคมปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ นำมาสู่ความเครียด ความกดดันในผู้ชายเช่นกัน จากการที่พวกเขาต้องประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ต้องทำงานหารายได้มาดูแลครอบครัวให้เพียงพอ


การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเพื่อพื้นฟูพลังอำนาจ ที่มีความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ


การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเพื่อพื้นฟูพลังอำนาจ ที่มีความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ คือการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่ใช้กรอบเพศภาวะมาวิเคราะห์ทำความเข้าใจรากเหง้าที่เป็นสาเหตุความทุกข์ใจของผู้รับการปรึกษา โดยให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมระหว่างผู้ให้การปรึกษากับผู้รับการปรึกษา เคารพประสบการณ์ของผู้รับการปรึกษา ช่วยให้ผู้รับการปรึกษาตระหนักรู้ เข้าใจว่าปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่นั้นไม่ใช่เกิดจากตัวพวกเขาเอง แต่เป็นเพราะโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมอันเนื่องจากเพศภาวะที่สังคมกำหนด ให้โอกาส อำนาจ คุณค่ากับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หรือคนที่มีเพศวิถีแบบรักต่างเพศ รวมถึงการถูกกดดันให้ยึดติดอยู่กับกรอบเพศภาวะดั้งเดิม เช่นเป็นผู้ชายต้องประสบความสำเร็จ ต้องเข้มแข็งพึ่งตนเอง เป็นผู้นำ ไม่แสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น เป็นต้น ผู้ให้การปรึกษากลุ่มนี้ไม่จำกัดอยู่กับแนวคิดหรือทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง แต่ใช้เลนส์เพศภาวะเป็นจุดศูนย์กลางในการทำความเข้าใจปัญหาผู้รับการปรึกษาภายใต้บริบทวัฒนธรรมสังคม มีเป้าหมาย ฟื้นฟูพลังอำนาจของบุคคล สนับสนุนให้บุคคลมีความเป็นอิสระจากกรอบเพศภาวะดั้งเดิม และเปลี่ยนแปลงสังคม (Herlihy and Corey, 2005) ปัญหาความทุกข์ใจที่พบว่าการให้การปรึกษารูปแบบนี้สามารถช่วยลดความทุกข์ใจ เช่น ภาวะซึมเศร้าอันเนื่องมาจากความกดดันจากบทบาทด้านเพศภาวะ การได้รับความรุนแรงอันเนื่องจากความเป็นเพศ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม การใช้สารเสพติดรวมถึงสุรา การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (Ratts and Pederson, 2014)


สรุป


การให้การปรึกษาเพื่อฟื้นฟูพลังอำนาจที่มีความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ เป็นการที่ผู้ให้การปรึกษาทำงานร่วมกับผู้รับการปรึกษาในการทำความเข้าใจรากเหง้าสาเหตุของความทุกข์ใจที่มาจากกรอบเพศภาวะที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม การกดขี่ และการกดดัน และมีการปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อใหม่ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม


เอกสารอ้างอิง

- สมพร รุ่งเรืองกลกิจ วราลักษณ์ กิตติวัฒนไพศาล อิงคฏา โคตนารา และ สุวรรณา อรุณพงศ์ไพศาล. (2555). โรคซึมเศร้าวิเคราะห์ผ่านมุมมองเพศภาวะ. วารสารพยาบาลศาสตร์ และ สุขภาพ,35 (4): 21-30.

- สมพร รุ่งเรืองกลกิจ. เพศ และ เพศภาวะ: มุมมองใหม่เกี่ยวกับสุขภาพ. วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ. 2558; 38 (1): 151-159.

- สมพร รุ่งเรืองกลกิจ และ อิงคฏา โคตนารา. (2560). การบำบัดแนวสตรีนิยม. วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ. 40 (2): 107-118.

- Chandra SP & Satyanarayana AV. (2010). Gender disadvantage and common mental disorders in women. Int Rev Psychiatry. 22 (5): 513-524.

- Herlihy B, Corey G. Feminist therapy. (2005). In Corey G, editor, Theory and practice of counseling and psychotherapy (p.338-81). 7th ed. Belmont: Thomson;

- Kumar P, Supriti, Nehra KD, Dahiya S. (2013). Women empowerment and mental health: A psychosocial aspect. Delhi Psychiatry Journal. 16(1): 57-65.

- Marchand A, Bilodeau J, Demers A, Beauregard N, Durand P, Haines V. (2016). Gendered depression: Vulnerability or exposure to work and family stressors? Soc Sci Med. 166: 160-8.

- Ratts JM. & Pedersen, BP. Z2014). Counseling for multiculturalism and social justice: itegration, theory, and application. Fourth edition. Alexandia, VA, American Counseling Association.

- Yu S. (2018). Uncovering the hidden impacts of inequality on mental health: a global study. Translational Psychiatry. 8:98. DOI 10.1038/s41398-018-0148-0.

 

* ข้อความในบทความนี้ เป็นทัศนะของผู้เขียนมิใช่ของผู้จัดทำหรือสมาคมฯ หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัย โปรดติดต่อเจ้าของบทความโดยตรง

ดู 924 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Commenti


bottom of page