top of page

ผู้เขียน

ดร.ฐิติกาญจน์ บุญรักษา อินทาปัจ

อาจารย์ประจำ สาขาจิตวิทยาการปรึกษาและการแนะแนว

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา


วันที่เผยแพร่

11 พฤศจิกายน 2563

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีก่อน วันหนึ่งในช่วงโค้งสุดท้ายของมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปี พ.ศ. 2545 เด็กหญิงจากจังหวัดเหนือสุดในสยามคนหนึ่งกำลังสาละวนท่ามกลางกองใบคะแนนเอ็นทรานซ์ย้อนหลังห้าปีกับการเลือกคณะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ที่วางกระจัดกระจายอยู่เกลื่อนบนพื้นห้อง เธอกำลังสับสันระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ตามที่ญาติๆ อยากให้เรียน กับคณะนิติศาสตร์เพื่อเป็นอัยการตามที่แม่ของเธอต้องการ


ขณะที่คิดไม่ตกอยู่นั้น ก็พลันสะดุดตากับชื่อหนึ่งเข้าอย่างจัง “ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” เธอสะดุดใจระคนสงสัยว่าจิตวิทยานี่เรียนเกี่ยวกับอะไรกันนะ ด้วยความเข้าใจเดียวที่มีขณะนั้นคือ การทำแบบทดสอบทายนิสัยต่างๆ ที่เห็นอยู่บ่อยๆ ในหนังสือวัยรุ่น เป็นคำถามประเภทที่ว่า เมื่อคุณเดินเข้าไปในป่า สัตว์ชนิดแรกคุณจะที่พบคืออะไร? หรือ หากมีประตูอยู่สี่บาน คุณจะเลือกเปิดบานไหน? คิดได้อย่างนั้นก็พลันเกิดแรงดึงดูดใจขึ้นมาทันที ท้ายที่สุดในวันนั้นเธอก็เลือก “จิตวิทยา” เป็นอันดับหนึ่ง และต่อมาไม่นานก็ติดโควต้าสมใจ นั้นคือก้าวแรกของฉันเองบนถนนจิตวิทยาเส้นนี้


หลังจากเริ่มต้นชีวิตนักศึกษาจิตวิทยาในมหาวิทยาลัย เริ่มเรียนวิชาทางจิตวิทยาหลายๆ ตัว จึงได้รู้ว่า


จิตวิทยาคือศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์

ตลอดระยะเวลา 4 ปี ในรั้วสีม่วง ฉันเข้าใจว่าจิตวิทยาเป็นเพียงวิชาที่เรียนในชั้นเรียน และประกอบอาชีพเป็นนักจิตวิทยาในอนาคตเท่านั้น หมดคาบเรียน ฉันก็ออกไปเฮฮารื่นเริงกับชีวิตอิสระของเด็กมหาวิทยาลัย ฉะนั้นจิตวิทยาจึงแยกออกจากชีวิตของฉันโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งเทอมสุดท้ายก่อนเรียนจบ ฉันได้เรียนวิชาหนึ่งที่เขย่าชีวิตฉัน คือวิชา "จิตวิทยาการปรึกษาแบบกลุ่ม"


ฉันได้กลับมาสำรวจตนเองอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรกว่าฉันคือใคร และพบว่า


ฉันไม่เคยรู้จักอะไรเกี่ยวกับตัวเองเลย

ฉันตื่นเต้นประทับใจจิตวิทยาการปรึกษานับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จึงตั้งมั่นเข้าศึกษาปริญญาโทจิตวิทยาการปรึกษาต่อในทันที การตัดสินใจครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตฉันอีกครั้ง ช่วงเวลาในการเรียนจิตวิทยาการปรึกษา 2 ปีนั้น ฉันได้รู้จักและเข้าใจอย่างชัดเจนว่า แท้จริงแล้วว่าฉันคือใคร ได้เรียนรู้และขัดเกลาตัวเองให้ "เป็นอยู่" ด้วยความเข้าใจมนุษย์และยอมรับตัวเอง ยอมรับผู้อื่น ตัดสินและตีค่าสิ่งต่างๆ ในชีวิตน้อยลงมาก รู้จักการอยู่กับปัจจุบันขณะมากยิ่งขึ้น ฉันรู้สึกถึงอิสระในใจตนเอง รู้สึกว่าชีวิตกว้างขึ้นไม่คับแคบเหมือนก่อน


เมื่อเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ฉันจึงรู้สึกรักและศรัทธาต่อจิตวิทยาการปรึกษา เกิดความพร้อมเดินบนทางนี้ต่อไปจากนี้ และแล้วโอกาสโลดแล่นอยู่ในสนามจิตวิทยาการปรึกษาก็ตามมา ฉันสนุกกับการทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของการเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาราว 5 ปี จึงเริ่มพบว่า ความรู้ ทักษะในการทำงานที่ฉันมียังไม่เพียงพอ


ฉันจึงเริ่มต้นก้าวใหม่อีกก้าวของการเรียน ในฐานะนิสิตปริญญาเอก คณะจิตวิทยา จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งที่แห่งนี้เป็นบ้านที่หล่อหลอม บ่มเพาะ ขัดเกลาให้ฉันเติบโตขึ้นมากกว่าที่ฉันเคยคิดหวังเอาไว้ ทั้งการเรียนในหลักสูตร การฝึกปฏิบัติทางวิชาชีพที่เข้มข้น และการติดตามอาจารย์อย่างต่อเนื่อง ฉันได้ซึมซับ เรียนรู้ ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้กว้างทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ฉันได้เรียนรู้ความลึกที่ซึ้งถึงความจริงของโลกและชีวิตตามวิถีธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไร การเรียนรู้นั้นหาใช่การฟังอาจารย์บรรยายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนผ่านชีวิตตัวเอง


สัมผัสความเข้าใจผ่านเรื่องราวความทุกข์ในชีวิตขณะนั้น เห็นถึงต้นตอของความทุกข์ และเห็นว่าแท้จริงแล้วเหตุแห่งความทุกข์ที่เกิดในมนุษย์แต่ละคนล้วนแล้วไม่ต่างกันเลย ทุกชีวิตรวมทั้งฉันเองล้วนเป็นมนุษย์ที่มีใจเดียวกัน มีสุข มีทุกข์ไม่ต่างกันแม้นิดเดียว


เมื่อเข้าใจทุกข์ เห็นเหตุแห่งความทุกข์ จึงออกจากทุกข์

ด้วยความเข้าใจนี้ ฉันอยู่ร่วมกับคนรอบตัวในชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ฉันคาดหวังต่อพ่อแม่ คนรอบๆ ตัวให้เป็นอย่างใจตัวเองน้อยลง เข้าใจพวกเขาเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น และด้วยความเข้าใจเดียวกันนี้ เป็นฐานสำคัญในการทำงานช่วยเหลือผู้อื่น ในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษาที่เป็นกัลยาณมิตร เอื้อผู้มาปรึกษาเห็นความทุกข์ที่เกาะกุม กดทับจิตใจเขาอยู่ เห็นสาเหตุที่ทำให้เขาร้อนรนในขณะนั้น แล้วเดินร่วมทางออกจากทุกข์นั้นได้ในที่สุด มีใจที่โล่งโปร่งจากแรงกดทับอันหนักอึ้ง สามารถดำเนินชีวิตตนเองต่อไปได้อย่างสอดคล้องกับวิถีความจริงตามธรรมชาติ


ซึ่งการเดินทางทุกย่างก้าวในจิตใจของผู้มาปรึกษาทุกๆ คน ก็เป็นการเดินทางเดียวกันกับจิตใจของฉันเอง ที่ยังคงเดินทางต่อเนื่องไม่เคยหยุด นับตั้งแต่ก้าวแรกเมื่อ 18 ปีก่อน จวบจนปัจจุบัน แล้วสืบเนื่องต่อไปไม่มีสิ้นสุด


 

* ข้อความในบทความนี้ เป็นทัศนะของผู้เขียนมิใช่ของผู้จัดทำหรือสมาคมฯ หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัย โปรดติดต่อเจ้าของบทความโดยตรง

ดู 357 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page